ความเครียดของนักเรียนไทยในช่วงโควิด-19
ความเครียดของนักเรียนไทยในช่วงโควิด-19
มาตรการล็อกดาวน์ และรักษาระยะห่างผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ทั้งวิตกกังวลการเรียนออนไลน์ที่บ้านในช่วงโควิด ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากกว่าปกติ ซึ่งมีเด็กจำนวนมากปรับตัวไม่ได้จนอยู่ในภาวะความเครียด บางคนถึงกับไม่อยากเรียนหนังสือแล้ว หลายคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายในที่สุด
ความเครียดเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตร่วมเสวนาออนไลน์ "#เธอยังโอเคอยู่มั้ย ปรับตัวอย่างไรให้มีความสุขในช่วงโควิด-19" แนะนำวิธีจัดการกับความเครียด อยู่บ้านแบบไหน ไม่ให้ป่วยทางใจ และเผยสัญญาณอันตรายว่าลูกวัยรุ่นของคุณเริ่มไม่โอเค เพราะความเครียดเกิดขึ้นได้ในทุกบ้าน หากถูกละเลยจะกลายเป็นอาวุธทำร้ายจิตใจกันได้ง่าย ๆ
งานนี้ มีเปิดตัวเฟซบุ๊กแฟนเพจ "CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ" ช่องทางการให้บริการคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตในรูปแบบกลุ่มปิด เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า แพลตฟอร์มนี้ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะการดูแลจิตใจในรูปแบบออนไลน์ โดยมีนักจิตวิทยา และผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่นร่วมให้คำปรึกษา พร้อมเป็นพื้นที่ให้สมาชิกแลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่งต่อกำลังใจกัน มีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม 5,000 คน
จอมเทียน จันสมรัก ผู้ทำลายกำแพงโรคซึมเศร้า สู่ชีวิตนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดบังคับให้ทุกคนต้องอยู่บ้าน ถ้าเป็นครอบครัวอบอุ่นจะมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่หลายครอบครัวเด็กตกอยู่ในสภาพแวดล้อมอันอึดอัด สอดรับกับสถิติความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ยังไม่รวมเคสความรุนแรงที่ซุกซ่อนอยู่ในบ้าน ซึ่งไม่เฉพาะทางร่างกายเท่านั้น รวมถึงการไม่เอาใจใส่ เพิกเฉย การไม่สนับสนุนทรัพยากรเรียนออนไลน์ ส่วนเด็กในครอบครัวแรงงานไม่มีพื้นที่ส่วนตัวต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ร่วมกัน เกิดภาวะความเครียดหนัก
ในมุมมองจอมเทียนแนะนำวัยรุ่นว่า ต้องปรับตัวด้วยการสื่อสารแบบสันติวิธี เช่น หนูอยากคุยเรื่องการเมืองกับแม่ แต่แม่บอกว่า หนูไม่รู้อะไร ทำให้หนูรู้สึกแย่ แต่หนูยังอยากคุยกับแม่อยู่นะ ในครอบครัวสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่าง คุยเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยน มีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ความเชื่อของสังคมเปลี่ยนไม่ได้ทันที แต่เราสามารถศึกษาสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง ให้เวลาตัวเอง เพราะโครงสร้างสังคมฝังมานาน ถ้ารู้สึกผิดเมื่อเถียงแม่ ต้องให้อภัยตัวเอง เมื่อจำเป็นต้องพูดคุยในประเด็นที่คิดว่าจะได้รับคำพูดกระทบเทือนใจจากพ่อแม่ ควรหาแหล่งสนับสนุนความรู้สึกไว้ด้วย
ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ เจ้าของเพจ 'นักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง' กล่าวว่า พ่อแม่ที่ทำงานที่บ้านก็เครียดจัดและสติแตก เพราะทุกอย่างกดดัน ลูกอยู่บ้านก็ซึมซับความเครียด บวกความเครียดจากเรียนออนไลน์ พ่อแม่จับจ้องการเรียน ส่วนเด็กถูกบังคับให้นั่งหน้าจอเป็นเวลานาน บางวิชาครูให้ปิดจอก็เกิดความวอกแวกสูง รูปแบบการเรียนออนไลน์ทำให้พลังจดจ่อจำกัด อีกปัญหาครูสั่งการบ้านเยอะมาก เพราะเรียนที่บ้าน ทุกอย่างกระทบเป็นลูกโซ่ เด็กที่ตั้งใจเรียนมีภาวะกังวลถ้าเรียนไม่ทัน จะรู้สึกอัดอั้น ห่วงระดับการเรียนที่สูงขึ้น อนาคตจะเป็นอย่างไร บางคนถึงขั้นเกิดภาวะซึมเศร้า
"แนวทางรับมือของเด็ก ๆ ตั้งกลุ่มไลน์เพื่อนพูดคุยเพื่อให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จะมีเพื่อนคอยสนับสนุนเกิดกำลังใจในการเรียน ส่วนวิธีการเรียนแต่ละคนมีสูตรที่ใช้ปรับตัว เด็กตั้งใจจะคาดหวังความเนี๊ยบ คะแนนลดจะรู้สึกอับจนหนทาง การประคองให้ตัวเองยืนระยะนานที่สุดสำคัญมาก ผลการศึกษาที่เป็นเลิศไม่สำคัญเท่าการเข้าใจตัวเอง ชอบหรือถนัดอะไร เน้นวิชาที่สอดคล้องและถูกจริตกับเราในอนาคตข้างหน้า วิชาที่ไม่ชอบให้เบาคันเร่ง ไม่ลืมพักผ่อนกับสิ่งที่เราชอบ แบ่งเวลาออกกำลัง ทำสิ่งที่เราชอบ สร้างสมดุลให้กับชีวิต" ดร.สุววุฒิ แนะนำการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขให้วัยรุ่น ส่วนใครที่อยากคลายเครียดชวนเข้าร่วมเพจ "CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ" ของ สสส.
ผศ.นพ.ชยุติ วงศ์เลิศวิศวกร ที่ปรึกษาเพจ Understand : ห้องนั่งเล่นของหัวใจ กล่าวว่า นอกจากภาวะเครียดแบบปกติ ช่วงโควิดยังมีกรณีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรงที่วงการแพทย์เรียกว่า PTSD เกี่ยวข้องกับภาวะเครียด เมื่อเด็กพบเห็นคนในครอบครัวกำลังจะเสียชีวิตหรือเสียชีวิตในบ้าน ซึ่ง 4 กลุ่มอาการที่สังเกตุได้ คือ ฝันหรือคิดถึงเรื่องนั้นซ้ำๆ, หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์ เช่น พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิดในบ้าน จะไม่เดินไปห้องนั้นๆ, การโทษตัวเอง เช่น โทษว่าติดต่อเบอร์ฉุกเฉินไม่ได้ หาเตียงไม่ได้ และอาการตระหนกหรือตื่นตัวมากกว่าปกติ หงุดหงิดเร็วต่อเสียงกระตุ้น หากเกิดอาการใดอาการหนึ่ง อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันภาวะเครียดนี้
วิธีเยียวยาใจ ผศ.นพ.ชยุติ บอกว่า หากเกิดความรู้สึกท้อแท้ในชีวิต หงุดหงิด เหวี่ยงวีนจากพื้นฐานอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง เป็นจุดสังเกตเล็กๆ คนในบ้านช่วยได้ การพบหรือปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับนักจิตวิทยาจะทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องกินยา หรือถ้าป่วย เป็นแล้วรักษาได้ อีกด้านดูแลสุขภาวะพื้นฐานกินอาหารที่มีประโยชน์ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ปลูกต้นไม้ ออกจากหน้าจอ ลุกมาทำกิจกรรมทางกาย
ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว สมชาย โต๊ะอีสอ นักจิตวิทยาคลินิก บอกว่า ช่วงโควิดสัมพันธภาพความรักก็มีปัญหา คนไม่มีโอกาสใกล้ชิด แตะบ่า สร้างความรู้สึกอบอุ่นกัน บางคนแรงขับเคลื่อนในชีวิตมาจากครอบครัว แต่ต้องปล่อยจากความสัมพันธ์ที่มีอยู่ เกิดความโดดเดี่ยวและมีความกลัวถาโถมเข้ามา วัยรุ่นเครียดจากภาวะสูญเสียความสัมพันธ์
"ความสัมพันธ์ทางไกลที่ไม่รู้ว่าโควิดจะจบเมื่อไหร่ พ่อแม่ WFH ลูกเรียนออนไลน์ การใกล้กันเกินไป ทำให้เกิดกระทบกระทั่งได้ง่าย วิธีจัดการต้องพูดคุยหาจุดสมดุล หาพื้นที่ของตัวเอง ส่วนคู่รักที่ต้องห่างเหินกันมีหลายเคสปรึกษากลัวเลิกกัน ต้องกลับมาทำความเข้าใจต้นตอและทบทวนความสัมพันธ์ที่ผ่านมาดีพอหรือยัง ซึ่งการทำความเข้าใจสถานการณ์และประคับประคอง คือ สิ่งที่ดีสุด วัคซีนที่ดีสุดคือ วัคซีนใจให้กำลังใจกันเพื่อก้าวผ่านเหตุการณ์วิกฤตไปได้" นักจิตวิทยาคลินิก ฝากช่วยกันสร้างวัคซีนใจ
ที่มา :
Panjawara Boonsrangsom (2564). ทลายกำเเพงความเครียดเด็กไทยช่วงโควิด-19, สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2564. จาก. https://www.thaihealth.or.th/Content/
- Admin WTU Website