รู้จักกับ "ยาฟาวิพิราเวียร์"

RSS
รู้จักกับ "ยาฟาวิพิราเวียร์"
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)
      เป็นยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส SARS CoV2 ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ถือเป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ตามแนวทางการดูแลรักษา COVID-19 โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากยานี้มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณไวรัสได้ดี และจากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังของผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไทย พบว่าการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะรุนแรงของ COVID-19

ยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มิลลิกริม (องค์การเภสัชกรรม, 2564)
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านเชื้อไวรัสที่อยู่ในสูตรยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ของไทย โดยใช้ควบคู่ไปกับยาอื่นและได้ผลดี ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด
สำหรับในประเทศไทย ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วย COVID-19 เป็นกรณีพิเศษและจากการเก็บข้อมูลย้อนหลังพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีความปลอดภัย สามารถลดความรุนแรงและการสูญเสียจาก COVID-19 ได้ โดยองค์การเภสัชกรรมได้ทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ ในระดับห้องปฏิบัติการได้เรียบร้อยแล้ว

ยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มิลลิกริม (องค์การเภสัชกรรม, 2564)
ยาฟาวิพิราเวียร์จะออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ คือ เข้าไปยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase,RdRP ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีในไวรัสเท่านั้น เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร Active Form = favipiravir-ribofuranosyl-5′-triphosphate (RTP) ให้ไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อยจนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้อีก

สูตรโมเลกุลยาฟาวิพิราเวียร์ ในรูป Active form (Sood S, et el. 2021)
ผู้ป่วยใดที่ควรได้รับยาฟาวิพิราเวียร์
แพทย์จะพิจารณาเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ดังนี้ โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึงในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง
วิธีการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์
ยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ในรูปแบบยาเม็ด ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ สำหรับผู้ป่วยเด็กจะต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตับอักเสบ เป็นต้น
ผลข้างเคียงของยาที่พบ
  1. อาการคลื่นไส้อาเจียน
  2. อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการ หากรับประทานยาในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
  3. มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด
  4. มีผลต่อการทำงานของตับ ดังนั้นไม่ควรรับประทานร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร หรือยาที่มีผลต่อตับ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์นอกระบบ เช่น ทางออนไลน์ เพราะเป็นยาอันตราย เนื่องจากคุณภาพที่ได้ไม่เพียงพอต่อการรักษา และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
สิ่งที่ต้องระวัง
เนื่องจากไวรัสปรับตัวเร็ว มีหลายสายพันธุ์ที่เริ่มดื้อยา ถ้าใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ฟุ่มเฟือย โดยไม่มีข้อบ่งชี้อาจเกิดเชื้อดื้อยา ทำให้ไม่มียารักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้นได้

ข้อมูลสรุปเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ (กรมการแพทย์, 2564)
บรรณานุกรม
  1. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (2564). ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir). สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue041/rama-rdu.
  2. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2564). ยาฟาวิพิราเวียร์ Favipiravir. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://covid19.dms.go.th/?StartWeb=1.
  3. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2564). ผลข้างเคียงของยาฟาวิพิราเวียร์. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.prachachat.net/breaking-news/news-731780.
  4. Sood, S., Bhatia, G.K., Seth, P. et al. Efficacy and Safety of New and Emerging Drugs for COVID-19: Favipiravir and Dexamethasone. Curr Pharmacol Rep 7, 49–54 (2021).

โพสต์ก่อนหน้า โพสต์ถัดไป

  • Admin WTU Website