เสียงบอบช้ำ หลังหาย COVID-19
เสียงบอบช้ำ หลังหาย COVID-19
ผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจขณะทำการรักษาเป็นเวลานาน เมื่อหายป่วยจาก COVID-19 แล้วอาจส่งผลให้กล่องเสียงได้รับการบาดเจ็บ เกิดการบวม ช้ำ อักเสบ หรือมีแผลได้ จึงควรหมั่นสังเกตตนเอง หากมีความผิดปกติควรพบแพทย์ทันที
ผู้ป่วย COVID-19 กับการใส่ท่อช่วยหายใจ
ในผู้ป่วย COVID-19 ที่มีการอักเสบของปอดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว หายใจเองได้ยาก จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) เพื่อช่วยในการักษาพยาบาล เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย โดยจะต้องทำการใส่ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal Intubation) ทางปากผ่านกล่องเสียงไปยังหลอดลม ท่อนี้จะเป็นตัวนำออกซิเจนจากเครื่องช่วยหายใจส่งไปยังปอด ช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาที่ค่อนข้างนานกว่าจะหายดี ตัวท่ออาจจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อภายในกล่องเสียงเกิดการบวม ช้ำ อักเสบ มีแผล หรือบวมจนกลายเป็นเนื้องอกบางชนิด หรือแผลเป็น ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะกล่องเสียงทำงานผิดปกติไปจากเดิม
ผู้ป่วย COVID-19 กับการใส่ท่อช่วยหายใจ
ภาวะกล่องเสียงหดเกร็ง
ภาวะกล่องเสียงหดเกร็ง (Laryngospasm) สามารถเกิดขึ้นได้จากการใส่ท่อช่วยหายใจและเอาท่อช่วยหายใจออก โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นในทางเดินหายใจขณะที่กล้ามเนื้อของกล่องเสียงยังหย่อนตัวไม่เต็มที่จึงเกิดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อกล่องเสียงและสายเสียงผิด ทำให้ออกซิเจนไม่ผ่านเข้าปอด
ภาวะกล่องเสียงอักเสบ
ภาวะกล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
-
เชื้อโรค อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา วัณโรค
-
ใช้งานกล่องเสียงมากเกินไป อาทิ พูดดัง พูดนาน ร้องเพลงผิดวิธี ไอแรง ไอเรื้อรัง ขากเสมหะบ่อย ๆ ฯลฯ
-
มีสิ่งระคายเคืองกล่องเสียง อาทิ การหายใจเอามลภาวะในอากาศเข้าไป การสูบบุหรี่ การสำลักอาหาร อาเจียน กรดไหลย้อน ฯลฯ
-
การกระแทกเสียดสีจากภายนอกกล่องเสียง อาทิ อุบัติเหตุของแข็งกระแทกลำคอทางด้านหน้า ฯลฯ
-
การกระแทกเสียดสีจากภายในกล่องเสียง อาทิ การใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อดมยาสลบ หรือการใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยหนักที่ไม่สามารถหายใจได้เองตามปกติ
รักษากล่องเสียงอักเสบ
การรักษาภาวะกล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) ประกอบไปด้วย
-
การให้ยา โดยแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุของโรคเป็นหลัก อาทิ ยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ไอ ยากรดไหลย้อน เป็นต้น
-
การพักใช้เสียง อย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยพูดน้อย ๆ ไม่ตะเบ็ง ไม่ตะโกน ไม่ร้องเพลง
-
งดดื่มคาเฟอีนปริมาณมาก งดดื่มแอลกอฮอล์
-
การผ่าตัด ในกรณีที่มีเนื้องอกหรือแผลเป็นในกล่องเสียง แพทย์จะสอดท่อผ่านเข้าไปทางช่องปาก และผ่าตัดด้วยอุปกรณ์สำหรับกล่องเสียงโดยเฉพาะ ภายใต้การมองผ่านเลนส์ของกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) เพื่อป้องกันการบอบช้ำหรือกระทบกระเทือนต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง และทำให้แผลผ่าตัดในกล่องเสียงมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผู้ป่วยจะไม่มีบาดแผลบริเวณผิวหนังของลำคอ แต่หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรพักการใช้เสียงด้วยการพูดน้อย ๆ ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือจนกว่าแผลผ่าตัดจะหายเป็นปกติ
ภาวะกล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)
สำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่จำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจตามคำแนะนำของแพทย์ เมื่อหายจาก COVID-19 แล้วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ที่มา :
Bangkok Hospital(2564).
กล่องเสียงบอบช้ำเมื่อหายจากโควิด-19,
สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2564. จาก. https://www.bangkokhospital.com/content/laryngeal
- Admin WTU Website