รู้จักกับ "ยาฟาวิพิราเวียร์"
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)
เป็นยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส SARS CoV2 ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ถือเป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ตามแนวทางการดูแลรักษา COVID-19 โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากยานี้มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณไวรัสได้ดี และจากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังของผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไทย พบว่าการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะรุนแรงของ COVID-19
ยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มิลลิกริม (องค์การเภสัชกรรม, 2564)
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านเชื้อไวรัสที่อยู่ในสูตรยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ของไทย โดยใช้ควบคู่ไปกับยาอื่นและได้ผลดี ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด
สำหรับในประเทศไทย ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วย COVID-19 เป็นกรณีพิเศษและจากการเก็บข้อมูลย้อนหลังพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีความปลอดภัย สามารถลดความรุนแรงและการสูญเสียจาก COVID-19 ได้ โดยองค์การเภสัชกรรมได้ทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ ในระดับห้องปฏิบัติการได้เรียบร้อยแล้ว
ยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มิลลิกริม (องค์การเภสัชกรรม, 2564)
ยาฟาวิพิราเวียร์จะออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ คือ เข้าไปยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase,RdRP ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีในไวรัสเท่านั้น เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร Active Form = favipiravir-ribofuranosyl-5′-triphosphate (RTP) ให้ไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อยจนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้อีก
สูตรโมเลกุลยาฟาวิพิราเวียร์ ในรูป Active form (Sood S, et el. 2021)
ผู้ป่วยใดที่ควรได้รับยาฟาวิพิราเวียร์
แพทย์จะพิจารณาเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ดังนี้ โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึงในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง
วิธีการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์
ยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ในรูปแบบยาเม็ด ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ สำหรับผู้ป่วยเด็กจะต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตับอักเสบ เป็นต้น
ผลข้างเคียงของยาที่พบ
-
อาการคลื่นไส้อาเจียน
-
อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการ หากรับประทานยาในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
-
มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด
-
มีผลต่อการทำงานของตับ ดังนั้นไม่ควรรับประทานร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร หรือยาที่มีผลต่อตับ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์นอกระบบ เช่น ทางออนไลน์ เพราะเป็นยาอันตราย เนื่องจากคุณภาพที่ได้ไม่เพียงพอต่อการรักษา และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
สิ่งที่ต้องระวัง
เนื่องจากไวรัสปรับตัวเร็ว มีหลายสายพันธุ์ที่เริ่มดื้อยา ถ้าใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ฟุ่มเฟือย โดยไม่มีข้อบ่งชี้อาจเกิดเชื้อดื้อยา ทำให้ไม่มียารักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้นได้
ข้อมูลสรุปเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ (กรมการแพทย์, 2564)
บรรณานุกรม
-
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (2564). ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir). สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue041/rama-rdu.
-
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2564). ยาฟาวิพิราเวียร์ Favipiravir. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://covid19.dms.go.th/?StartWeb=1.
-
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2564). ผลข้างเคียงของยาฟาวิพิราเวียร์. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.prachachat.net/breaking-news/news-731780.
-
Sood, S., Bhatia, G.K., Seth, P. et al. Efficacy and Safety of New and Emerging Drugs for COVID-19: Favipiravir and Dexamethasone. Curr Pharmacol Rep 7, 49–54 (2021).
- Admin WTU Website