วัคซีน COVID-19 The Series ตอนที่ 2 วัคซีนชนิด Viral vector

RSS
วัคซีน COVID-19 The Series ตอนที่ 2 วัคซีนชนิด Viral vector
วัคซีนชนิด viral vector บริษัทผู้ผลิตได้แก่ AstraZeneca (University of Oxford), Johnson & Johnson และ Sputnik V
หลักการ ฝากสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 เข้าไปในไวรัสพาหะ เช่น Adenovirus เพื่อพาเข้ามาในร่างกายมนุษย์ และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา

แผนภาพจำลองรูปร่างและการเข้าสู่เซลล์ร่างกายโดยมี Adenovirus เป็นไวรัสพาหะ (Marcus C, 2015)
ข้อดี คือ เป็นวัคซีนที่เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ผลิตได้ง่าย เร็ว ราคาไม่สูง
ข้อด้อย คือ ยังไม่มีประสบการณ์ใช้ในวงกว้าง และในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสที่ใช้เป็นพาหะมาก่อน วัคซีนอาจกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีมากนัก
ประสิทธิภาพของวัคซีน
AstraZeneca ได้รับการรับรองจาก WHO ในการฉีดเพื่อป้องกันโรค COVID-19 สามารถป้องกันโรค COVID-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม ได้ 63.09% สำหรับเรื่องความสามารถในการป้องกันการแพร่เชื้อนั้น WHO ยังไม่มีผลการทดสอบที่แน่ชัด กำหนดให้ฉีด 2 โดส ห่างกัน 8-12 สัปดาห์ (ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมากฉีดวัคซีนดังกล่าว)
Johnson & Johnson ได้รับการรับรองจาก WHO ในการฉีดเพื่อป้องกันโรค COVID-19 โดยการฉีดเพียง 1 โดส มีประสิทธิภาพป้องกันโรค COVID-19 ได้ 66.9% ป้องกันอาการรุนแรงได้ 85.4% หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว 28 วัน และการเสียชีวิต 100% แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการป้องกันการแพร่เชื้อ

วัคซีนชนิด Viral vector โดยบริษัท AstraZeneca (BBC, 2021)
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน
อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแต่ละยี่ห้อนั้น มีอาการเบื้องต้นที่ใกล้เคียงกัน คือเกิดการบวมแดงหรือคันบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไปจนถึงมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอาการแพ้รุนแรง จึงควรตรวจสอบอาการหลังฉีดเป็นเวลา 30 นาที นอกจากนี้ยังมีรายงานอาการแพ้รุนแรงจากวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ดังนี้
AstraZeneca: WHO รายงานว่ามีโอกาสพบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 4 คน ต่อ 1,000,000 โดส ในสหราชอาณาจักร และ 10 คน ต่อ 1,000,000 โดสในสหภาพยุโรป
Johnson & Johnson: WHO รายงานว่ามีโอกาสพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันในจำนวน 3.5 คน ต่อ 1,000,000 คน
ทั้งนี้ ภาวะเลือดแข็งตัวที่กำลังเป็นที่สงสัยกันนั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นเพียงการพบร่วมหรือเป็นผลจากการฉีดวัคซีนจริงๆ เนื่องจากอุบัติการของโรคนี้ในประชากรทั่วไป ที่สามารถพบได้ 0.5-1.5 ต่อ 100,000 คน วัคซีนที่กล่าวมานี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดที่แตกต่างกันและอาจเกิดผลข้างเคียงในบางราย แต่อย่างน้อยก็สามารถลดอัตราการป่วยรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และรักษาระยะห่างเพื่อให้โรคร้ายนี้หายไปในที่สุด

วัคซีนชนิด Viral vector โดยบริษัท Johnson & Johnson (Edward S, 2021)
บรรณานุกรม
  1. กระทรวงสาธารณสุข. (2564). วัคซีนชนิด Viral vector. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2564. เข้าถึงได้จาก https://r8way.moph.go.th/r8wayadmin/page.
  2. Marcus C. Adenovirus. J Blood Med. 2015;6:245–55.
  3. (2021). AstraZeneca vaccine. Sep 4, 2021. Retrieved from https://www.bbc.com/news/.
  4. Edward S. (2021). Johnson & Johnson vaccine. Sep 4, 2021. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/edwardsegal.

โพสต์ก่อนหน้า โพสต์ถัดไป

  • Admin WTU Website